วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แจ้งความเท็จ !!

ความผิดฐานแจ้งความเท็จ (มาตรา 137)

         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน หกเดือน หรือ ปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
องค์ประกอบ แจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึงอาจทำให้ประชาชนหรือผู้อื่นเสียหาย

        การแจ้งความเท็จนั้น อาจเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานเอง หรือตอบคำถามเจ้าพนักงานก็ได้ หรือกรอกข้อความเท็จแล้วนำไปยื่นต่อเจ้าพนักงาน การที่เจ้าพนักงานสอบถามแล้วจำเลยไม่รับหรือปฎิเสธ มิใช่การแจ้งความเท็จตามความหมายแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 492/2509 การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 นั้น ไม่ว่าจะไปแจ้งเองหรือตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยาน ก็เป็นการแจ้งต่อเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งมาตรานี้ทั้งนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 605/2546 จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ ว. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกบัตรประจำตัวประชาชน โดยกรอกข้อความในแบบคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและจำเลยนำแบบคำขอดังกล่าวเสนอ ส. พนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อให้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนอันเป็นเอกสารราชการให้แก่ ง. และ ก. เป็นการกระทำผิดโดยมีเจตนาเพื่อช่วยเหลือบุคคลสองคนให้ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแม้จะกระทำในวันเดียวกัน สถานที่เดียวกันแต่เจตนาในการกระทำผิดเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรม มิใช่กรรมเดียว

ความเท็จที่แจ้งนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้เกิดความผิด หรือเป็นองค์ประกอบความผิดด้วย มิใช่เป็นเพียงรายละเอียด

การกระทำที่ครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัตินั้น[1] หมายความว่า

1.มีการกระทำ
2.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดในเรื่องนั้นๆ

3.การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายในของความผิดในเรื่องนั้นๆ

4.ผลของการกระทำสัมพันธ์กับการกระทำตามหลักในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล

______________________________________________
[1]ดร.เกียรขจร วัจนะสวัสดิ์. กฏหมายอาญาภาค 1 . (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ พลสยาม พริ้นติ้ง, 2550) หน้า 86

            การแจ้งความเท็จนั้น ต้องเป็นการแจ้งในข้อเท็จจริง ไม่เกี่ยวกัยข้อกฎหมายดังนั้นการแจ้งความที่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎ แม้จะไม่เป็นความผิดตามข้อหาที่แจ้งก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะเป็นความเห็นในข้อกฎกมายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2539

ข้อความที่จำเลยที่3แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตรงกับสภาพที่จำเลยที่2ไปพบเห็นมาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่3แจ้งข้อความตรงตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยที่3แจ้งหรือไม่ไม่สำคัญเพราะการแจ้งข้อความหมายถึงแจ้งข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมายจึงไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ พนักงานของสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานครตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครไม่ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนของกรุงเทพมหานครถือไม่ได้ว่ามีฐานะเป็นข้าราชการจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157 ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยในฐานความผิดหรือบทมาตราที่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา192วรรคห้าได้นั้นต้องเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่กล่าวในฟ้องจริงเพียงแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเท่านั้นทั้งจะต้องมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างตัวบทกฎหมายผิดเป็นคนละฉบับไปด้วย

-@- คำให้การของผู้ต้องหา ที่เป็นเท็จ ไม่ผิดฐานแจ้งความเท็จ-@-

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจรณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องกาจะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ ดังนั้น แม้คำให้การของจำเลย จะเป็นเท็จจำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1093/2522

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาจะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างใดก็ได้ แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วสอบสวนจดคำให้การของจำเลยไว้ ต่อมามีพยานหลักฐานว่าผู้อื่นเป็นผู้ขับรถชนผู้เสียหายมิใช่จำเลย พนักงานสอบสวนเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่จดไว้เป็นความเท็จจึงแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานดังนี้ คำให้การของจำเลยที่พนักงานสอบสวนจดไว้เป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาแม้ไม่เป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน

จะให้การอย่างไรหรือจะไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหา ที่จะให้การอย่างไรก็ได้แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัสและสอบสวนจดคำให้การของจำเลยไว้ ต่อมามีพยานหลักฐานว่าผู้ขับรถชนผู้เสียหาย มิใช่จำเลย พนักงานสอบสวนเห็นว่าคำให้การของจำเลยที่จดไว้เป็นความเท็จจึงแจ้งข้อหาเพิ่มเตืมว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ดังนี้ คำให้การของจำเลยที่พนักงานสอบสวนจดไว้เป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหา แม้ไม่เป็นความจริง จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5346/2540

จำเลยแจ้งข้อความต่อพนักงานสอบสวนขณะปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ว่า"ภายหลังเกิดเหตุรถชนกันแล้ว ผู้ขับขี่รถสามล้อเครื่องได้หลบหนีไป" ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วคนขับรถสามล้อเครื่องยังคงอยู่ในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้พนักงานสอบสวน หรือประชาชนเสียหาย แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ผู้ต้องหาจะให้การหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นสิทธิของผู้ต้องหาก็ตามแต่ได้ความจากคำร้องขอผัดฟ้องและฝากขังว่า พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอผัดฟ้องและฝากขังจำเลยเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2539 โดยระบุในคำร้องดังกล่าวว่าจำเลยถูกจับเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 และถูกกล่าวหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายไม่หยุดให้การช่วยเหลือ ไม่แสดงตนและแจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ใกล้เคียง และแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4),78,157,160 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวตามฟ้องแก่เจ้าพนักงานในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2539 จึงเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเช่นนั้นแก่เจ้าพนักงานก่อนจำเลยถูกสอบสวนว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 หรือไม่ มิใช่เป็นการให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาในความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวนอันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137

ข้อสังเกต การจะพิจารณาว่าบุคลใดจะตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหา จะต้องมีการกล่าวหาว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดอาญา ซึ่งต้องเป็นการกล่าวหาต่อเจ้าพนักงานโดยทำเป็นคำร้องทุกข์ โดยผู้เสียหาย หรือคำกล่าวโทษของบุคคลอื่น

ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ให้นิยามคำว่า ผู้เสียหายหมายถึง ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง

ความหมาย ผู้เสียหายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา[2]
 
1. มีการกระทำความผิดทางอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้น

2. บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดอาญาดังกล่าว

3. บุคคลนั้นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

ผู้เสียหายโดยนิตินัยนั้น หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำผิด หรือไม่เป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนหรือรุ้เห็นในการกระทำผิดหรือการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่ผิดต่อกฎหมายนั้นด้วย


______________________________________________
[2]วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์.วิ.อาญาพิสดาร เล่ม1.(กรุงเทพ:หจก.แสงจันทร์การพิมพ์,2554) หน้า225

                        -@-การแจ้งความเท็จนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย-@-

การแจ้งข้อความอันจะเป็นความผิดตาม ป.. มาตรา 137 ต้องเป็นข้อความเท็จซึ่งอาจทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนเสียหายด้วย เช่น นำที่ดินไปขายแล้ว กลับไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์หายไปเพื่อขอออกใบแทน ทำให้เจ้าของที่ดินเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2546
จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้มาแต่แรกแล้วว่า ล. ผู้เป็นบิดาได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่ก. และโจทก์ที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หายไป แล้วจำเลยที่ 1 นำหลักฐานใบแจ้งความไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)แทนฉบับที่อ้างว่าหายไป จึงมีเจตนาที่จะกระทำผิดหาใช่เป็นเรื่องที่ขาดเจตนาไม่

ความผิดฐานแจ้งความเท็จคือการนำความเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่ว่า ล. บิดาได้ขายที่ดินพิพาทไปแต่กลับไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หาย และจำเลยที่ 1 นำสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไปขอออกใบแทน จนกระทั่งไปดำเนินการรับโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินที่แท้จริงต้องได้รับความเสียหายแล้ว หาใช่ไม่เป็นความผิดเพราะโจทก์ทั้งสองไม่เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องไม่

การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน โดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อขอใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) แล้วรับโอนมรดกที่ดินมาเป็นชื่อของตนการกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นกรรมเดียว

การแจ้งความเท็จนั้นไม่อาจทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหายก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จ เช่น
จำเลยไปแจ้งความเท็จในคดีความผิดอันยอมความได้ แต่ได้แจ้งไว้เพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น ไม่เป็นคำร้องทุกค์พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดี จึงไม่อาจเกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1047/2514

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใหญ่บ้าน กลับจากธุระมาถึงบ้านก็ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นลูกบ้านว่าถูกโจทก์เรียกร้องเอาเงินไป ขอให้ไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อเอาเงินคืน จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้านจึงไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจตามคำบอกเล่าของลูกบ้าน อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ของผู้ปกครองหมู่บ้าน โดยเชื่อตามคำบอกเล่าของลูกบ้านว่าเป็นความจริง เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ยังหามีความผิดฐานแจ้งความเท็จไม่

การแจ้งความเท็จนั้น มีอายุความในการดำเนินคดี ห้าปี นับวันแจ้งความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(4) ประกอบมาตรา 137

มาตรา 95 ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ

(4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

มาตรา 137 ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน หกเดือน หรือ ปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ


________________________________

-@- บรรณานุกรม  -@-

วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์.อาญาพิสดาร เล่ม 1.กรุงเทพ:หจก.แสงจันทร์การพิมพ์,2551
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์.วิ.อาญาพิสดาร เล่ม1.กรุงเทพ:หจก.แสงจันทร์การพิมพ์,2554
ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์.คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป.พิมพ์ครั้งที่10.กรุงเทพ:พลสยาม พริ้นติ้ง (ประเทศไทย),2551
ระบบสืบค้นคำพิพากษา คำสั่งคำร้องและคำวินิจฉัยศาลฎีกา [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก : http://deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/search.jsp

Thailaw:อายุความในคดีอาญา [มาตรา 95,98]: [ออนไลน์], เข้าถึงได้จาก : http://www.thailaws.com/download/thaidownload/thaidown016.pdf

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น